สคส.จากในหลวงถึงประชาชน

สคส.จากในหลวงถึงประชาชน

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

แบงก์ตัวการสร้างหนี้เสียปล่อยกู้เกินรายได้

จัดทำโดย นางสาวจิรวรรณ ทองแก้ว เลขทะเบียน 4902100174

เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ "กัลยาณี"ตั้งข้อสังเกตแบงก์/นอนแบงก์อนุมัติวงเงินสินเชื่อให้เกินความสามารถของรายได้ลูกหนี้ ยกเคสกินเงินเดือน 30,000 บาทแต่มีบัตรเครดิต37ใบมูลหนี้รวมกว่า 5 ล้านบาท พร้อมแนะรัฐแก้ปัญหาคอขวดหนี้นอกระบบ กรณีลูกหนี้คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ หากต้องกลับไปหาเจ้าหนี้เดิมอาจถูกเช็กบิล
นางกัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแนวนโยบายแก้ไขหนี้นอกระบบของรัฐบาลว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาตนเกรงว่าลูกหนี้ที่ขึ้นทะเบียนจะไม่กล้าพอที่จะให้ข้อมูลของเจ้าหนี้ รัฐบาลจึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาคอขวด โดยต้องมีคนกลางในการให้ข้อมูลลูกหนี้ที่ถูกต้อง นอกจากนี้ความยากง่ายยังขึ้นอยู่กับการแยกระหว่างหนี้เทียมและหนี้จริง ที่สำคัญ กรณีลูกหนี้ขึ้นทะเบียนกับธนาคารออมสินและ/หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ถ้าคุณสมบัติไม่ผ่าน ลูกหนี้ก็อาจต้องประสบปัญหาหากต้องกลับไปหาเจ้าหนี้ ซึ่งอาจจะถูกเล่นงาน (เช็กบิล)
เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้ ฯ ได้กล่าวต่อว่า จากบทบาทที่ต้องประสานงานกับลูกหนี้มานาน 7 ปี มีข้อสังเกตว่าทำไมสถาบันการเงิน หรือที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์)ซึ่งเป็นผู้ออกอนุมัติสินเชื่อ /การให้วงเงินบัตรเครดิตกันมากเกินกำลังรายได้ของผู้ถือบัตรหรือลูกหนี้ ทั้งๆที่ปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร ) ในทางปฏิบัติจึงไม่แน่ใจว่าผู้ออกบัตรทั้งหลายได้มีการใช้ข้อมูลเครดิตบูโร ไปประกอบการพิจารณาก่อนการอนุมัติออกบัตรหรือพิจารณาวงเงินสินเชื่อจริงหรือไม่ เพราะจากฐานข้อมูลปรากฏชัดว่า มูลหนี้ของคนเมืองสูงกว่ารายได้ประจำค่อนข้างมาก ซึ่งน่าเป็นห่วงไม่ว่าจะเป็นประเภทหนี้บ้านที่อยู่อาศัย, หนี้บัตรเครดิต และหนี้เช่าซื้อ โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิต
ยกตัวอย่าง ลูกหนี้รายหนึ่งเงินเดือน 30,000บาท แต่กลับมีหนี้สินรวมกว่า 5 ล้านบาท จากการเป็นหนี้บัตรเครดิตรวม 37 ใบ หรือลูกหนี้บางรายมีเงินเดือน 12,000 บาท แต่กลับมีหนี้บัตรเครดิตมากว่า 1 ล้านบาท ,บ้างเงินเดือน 24,000 บาท มีบัตรเครดิต 11 ใบ มูลหนี้รวม 600,000 บาท โดยบัตรเครดิตที่มีการใช้วงเงินต่ำสุดอยู่ที่ 90,000 บาทต่อบัตร
นอกจากนี้ยังสุ่มพบลูกหนี้ซึ่งเป็นพนักงานการบินไทย หลังการหักค่าใช้จ่ายแล้วมีเงินเดือนเหลือเพียง1,400 บาท สาเหตุที่สำคัญ เพราะพนักงานเหล่านี้เดิมมีรายได้รวม (บวกค่าโอที/เบี้ยเลี้ยง ) ต่อเดือนมากถึง 90,000 บาท จำนวนนี้เป็นเงินเดือนสุทธิ 50,000 บาทแต่หลังพนักงานกลุ่มนี้ถูกลดเงินเดือนและลดรายได้อื่นๆลงจำนวนมาก ทำให้พนักงานหลายคนต้องแบกรับภาระหนี้ซึ่งมีอยู่เท่านี้ ขณะนี้กำลังขอให้สหภาพแรงงานการบินไทยหารือกับฝ่ายจัดการเพื่อหาทางแก้ไขภาพรวม
" ปัญหาหนี้ต้องแก้ไขทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยในส่วนเจ้าหนี้นอกจากมีการคิดดอกเบี้ยผิดพลาดหรือออกบัตรเครดิตเกินกำลังความสามารถในการใช้คืนหนี้ของลูกหนี้แล้ว กรณีลูกหนี้เป็นหนี้บัตรเครดิตก็มีการออกวงเงินสินเชื่อบุคคลให้รายเดิมหมุนเวียนใช้อยู่อีก เท่ากับเป็นการสร้างภาระหนี้ให้ลูกหนี้โดยรายได้ยังเท่าเดิม ที่สำคัญการแก้ไขหนี้ที่ผ่านมา แม้ลูกหนี้จะมีข้อสรุปแล้ว แต่กลับถูกยึดบ้านหรือหลักประกัน เพราะกระบวนการทางกฎหมายและศาลไม่ได้แก้ไขให้สอดคล้องกัน บางกรณีเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตแต่ต้องถูกฟ้องยึดบ้าน" นางกัลยาณีกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,488 17-19ธันวาคม พ.ศ. 2552

คำถาม
1.นโยบายแก้ไขหนี้นอกระบบของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดีแต่ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นคืออะไร
2.มูลหนี้ของคนเมืองสูงกว่ารายได้ประจำค่อนข้างมาก เกิดจากสาเหตุใด
3.มีการสุ่มพบลูกหนี้ซึ่งเป็นพนักงานการบินไทย พนักงานกลุ่มนี้ถูกลดเงินเดือนและลดรายได้อื่นๆลงจำนวนมาก ทำให้พนักงานหลายคนต้องแบกรับภาระหนี้สิน ดังนั้นหน่วยงานไหนที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้บ้าง

วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2553

ครม.ไฟเขียว4มาตรการภาษี

ผู้จัดทำ นางสาวพริยาภรณ์ บุตรพรม
เลขทะเบียน 4902100180

ครม. ไฟเขียวปรับโครงสร้างพิกัดอัตราภาษีศุลกากร 13 รายการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของผู้ประกอบการ
คาดส่งผลต่อรายได้รัฐลดปีละ 35 ล้านบาท พร้อมคลอดมาตรการภาษีหนุนการออมเพื่อการชราภาพ , กบข.และ กสล. โดยมีมติให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผลประโยชน์ที่สมาชิกได้รับ /มาตรการภาษีช่วยเหลือคนพิการ ให้กับผู้ประกอบการ/นิติบุคคลที่รับคนพิการเข้าทำงาน และมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้ยืดอายุมาตรการต่ออีก 1 ปี
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 เกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพิกัดศุลกากร ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย 13 รายการ

การปรับปรุงโครงสร้างภาษีดังกล่าว นายประดิษฐ์ กล่าวว่าจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาความลักลั่นของโครงสร้างภาษีนำเข้าระหว่างอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เนื่องจากปัจจุบันยังคงมีวัตถุดิบ/ปัจจัยการผลิตนำเข้าบางรายการที่ยังไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ หรือมีการผลิตได้แต่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ และยังคงมีอัตราอากรขาเข้าในอัตราที่สูงกว่าอัตราอากรตามโครงสร้างการผลิต 3 อัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด ( 1% สำหรับวัตถุดิบ, 5% สำหรับสินค้ากึ่งสำเร็จรูป และ 10% สำหรับสินค้าสำเร็จรูป) ทำให้เกิดปัญหาความลักลั่นของโครงสร้างภาษีนำเข้า และเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย
ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงเห็นควรให้ปรับปรุงโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากรวัตถุดิบ/ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ดังนี้

1. ปรับปรุงโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากรวัตถุดิบ / ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยจำนวน 9 ประเภทย่อย

รายการ อัตราปัจจุบัน อัตราใหม่

เมล็ดโกโก้ ร้อยละ 30 ร้อยละ 5
สิ่งสกัดจากมอลต์ ร้อยละ 35 ยกเว้นอากร
สินแร่ หัวแร่ทองแดง ร้อยละ 10 ยกเว้นอากร
ก้านไม้ขีด ร้อยละ 40 ยกเว้นอากร
เฉพาะถังบรรจุก๊าซธรรมชาติ จัดทำด้วยเหล็กกล้า ร้อยละ 17 ยกเว้นอากร

(1 มกราคม 2552 - 31 ธันวาคม 2553)

2. ขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรขาเข้าถังบรรจุก๊าซธรรมชาติประเภทถังเหล็ก จำนวน 4 ประเภทย่อย
3. ปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำรายการสินค้าที่มีการปรับปรุงโครงสร้างอัตราขาเข้าไปแล้ว จำนวน 3 ประเภทย่อย
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในส่วนของภาษีศุลกากรประมาณปีละ 35 ล้านบาท อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศที่ได้รับ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ให้สามารถแข่งขันได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตในส่วนของภาระภาษีนำเข้าลดลง
นอกจากนี้ครม. ยังมีมติเห็นชอบในส่วนของมาตรการภาษีสรรพากร ประกอบด้วย 1.มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการออมเพื่อการชราภาพ , กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสล.) โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินหรือผลประโยชน์ที่สมาชิกได้รับจากทั้ง 2 กองทุนในกรณีพ้นสมาชิกภาพ กล่าวก็คือกรณี สูงอายุ ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต


รวมถึงกรณีที่โอนจากกองทุน กบข. ไปสู่ กสล. หรือจาก กสล. หนึ่งไปสู่อีก กสล.หนึ่ง จากเดิมซึ่งหากเป็นในส่วนของ กบข. จะให้เฉพาะการรับเงินหรือผลประโยชน์ที่สมาชิกได้รับทั้งจำนวน เมื่อพ้นสมาชิกภาพเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ขณะที่มาตรการใหม่ได้เพิ่มสิทธิ์ให้สามารถเลือกได้ที่จะรับเงินจาก กบข. ทั้งจำนวน หรือทยอยรับ และยกเว้นสำหรับดอกผลจากเงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าว รวมถึงให้เพิ่มสิทธิในกรณีที่พ้นจากสมาชิกภาพในการขอเกษียณอายุก่อนกำหนด จากเดิมที่ต้องเกษียณอายุก่อน หรือเสียชีวิต
และให้สิทธิยกเว้นต่อเนื่องหากต้องการโอนจาก กบข. ไป กสล. ขณะที่ในส่วนของ กสล. จากเดิมให้ยกเว้นได้เฉพาะการรับเงินหรือผลประโยชน์ที่สมาชิกได้รับทั้งจำนวน โดยการปรับปรุงใหม่นั้นจะให้ได้รับการยกเว้นในกรณีไม่ว่าลูกจ้างจะขอรับเงินหรือผลประโยชน์ทั้งจำนวน หรือขอคงเงินไว้ใน กสล. เมื่อรับเงินคืนทั้งจำนวน หรือทยอยรับ และให้ได้รับสิทธิกรณีขอเกษียณอายุก่อนกำหนด แต่ต้องคงเงินหรือผลประโยชน์ไว้จนถึงวันเกษียณอายุโดยไม่ต้องเสียภาษี
และ 2.มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือคนพิการ โดยให้ยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลให้นายจ้างที่รับคนพิการเข้าทำงาน และผู้ที่จัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการในอัตรา 20% รวมถึงผู้ที่บริจาคเงินให้กับกองทุนเพื่อส่งเสริมพัฒนาชีวิตให้คนพิการ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่าเงินจำนวนที่บริจาค โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ยังได้ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างองค์กรออกไป 1 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล (NPL) ของแต่ละองค์กรลดลง โดยในปี 2551ที่ผ่านมาหนี้เอ็นพีแอลลดลง 84,000 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เอ็นพีแอลลดลง 32,300 ล้านบาท นอกจากนี้ในส่วนของหนี้เอ็นพีแอล ยังได้มีการขอเพิ่มเติมให้ กรณีที่ผู้เป็นหนี้เอ็นพีแอลแล้วชำระหนี้มาด้วยดีตลอดให้ได้รับสิทธิ์ในการขยายระยะเวลาไปจนถึงสิ้นปี 2553 ด้วย ขณะที่ส่วนของภาษีทางด้านของการส่งเสริมภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น ขณะอยู่ระหว่างการพิจารณา

คำถาม
1.จากการปรับปรุงโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากรวัตถุดิบ / ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยจำนวนกี่ประเภทย่อย
2.การดำเนินการปรับปรุงดังกล่าว จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในส่วนของภาษีศุลกากรเป็นเงินจำนวนเท่าใด
3.รัฐบาลได้ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างองค์กรออกไปเป็นระยะเวลาเท่าไหร

ขอบคุณข้อมูลจาก จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,490 24-26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ตลาดปูนซีเมนต์ยิ้มรับข่าวดีปี53

ผู้จัดทำ นายอับดลเล๊าะ หมัดอะหิน
เลขทะเบียน 4902100143



อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ตั้งแถวรับข่าวดีปีเสือ มีหลายตัวช่วยปลุกตลาดคึกคัก ไล่ตั้งแต่ปัจจัยบวกการเร่งเบิกใช้งบไทยเข้มแข็ง พืชผลทางการเกษตรราคาดี เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว รวมถึงการประมูลรถไฟฟ้า แย้มปีหน้าตลาดปูนซีเมนต์อาจขยายตัวเป็นบวก 5% เอสซีจี ซีเมนต์แจงอีก6เดือนรู้ผลตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย ด้าน"ทีพีไอ โพลีน" ชี้ปี52 ตลาดยังไม่ดี มั่นใจปี 53 มี 2 ปัจจัยช่วยหนุนตลาดฟื้น
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย( เอสซีจี) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2553 ว่า เตรียมรับข่าวดี เนื่องจากจะมีหลายตัวช่วยปลุกให้ตลาดปูนซีเมนต์คึกคักขึ้น โดยสัญญาณบวกเริ่มปรากฏชัดตั้งแต่ไตรมาส 3 ที่ผ่านมาที่ปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยตลาดปูนซีเมนต์พลิกเป็นบวก 7% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ที่ติดลบ 10% ไตรมาส 2 ติดลบ 4% และมั่นใจว่าในไตรมาส 4 การบริโภคปูนซีเมนต์จะดีขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตามหากมองภาพรวมทั้งปี 2552 จะเห็นว่ายังติดลบอยู่ ส่วนจะติดลบเท่าไหร่นั้น
ต้องรอดูตัวเลขสิ้นเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะติดลบถึง 3% ถือเป็นการติดลบที่ลดลง จากเดิมที่คาดการณ์ว่าตลาดปูนซีเมนต์ในปีนี้จะติดลบ 5-10%
สำหรับเอสซีจีมองว่าสถานการณ์โดยภาพรวมปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วมาก แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าธุรกิจปูนซีเมนต์โดยฐานของมันแล้วจะติดลบมาตลอด 3-4 ปี เมื่อพลิกเป็นบวกไตรมาส 3 ปีนี้ก็ถือว่าเป็นสัญญาณบวกครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยปีนี้มีการบริโภคปูนซีเมนต์ในประเทศประมาณ 24 ล้านตัน
สอดคล้องนายปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ที่ยอมรับว่าตลาดปูนซีเมนต์ครึ่งหลังของปีนี้ เริ่มเป็นบวกแต่ยังไม่แรงมาก และจะโตต่อเนื่องถึงปี 2553 เพราะรัฐบาลเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อโดยการอัดฉีดงบไทยเข้มแข็งลงระบบมากขึ้น ทำให้ภาคเอกชนแข็งแรงขึ้น ตลาดปูนซีเมนต์ขยายตัวจากกลุ่มที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภคที่เกิดจากงบไทยเข้มแข็ง นอกจากนี้ปีหน้าหากภาคเกษตรลืมตาได้โดยที่ราคาพืชผลทางการเกษตรดีขึ้น กลุ่มเกษตรกรที่ซ่อมแซมบ้านก็จะมีมากขึ้น นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกและตลาดหุ้นก็เริ่มดีขึ้นแล้ว
"คาดการณ์ว่าทั้งปี 2553 ตลาดปูนซีเมนต์น่าจะเสมอตัวหรือจะขยายตัวเป็นบวกก็น่าจะไม่เกิน 5% โดยบริโภคปูนซีเมนต์คาดการณ์เบื้องต้นว่ายังไม่ถึง 25 ล้านตัน แต่จะมากกว่า 24 ล้านตัน/ปี"
สำหรับการแข่งขันในตลาดอาเซียน ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรี(อาฟต้า) เนื่องจากมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถช่วยตัวเองได้แล้ว ต้นทุนสามารถแข่งขันกับผู้เล่นระดับโลกได้ เพราะมีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีของเราเอง
ส่วนในแง่ราคาปูนซีเมนต์ มองว่าต่อจากนี้ไปจะเป็นเรื่องของกลไกตลาด โดยที่ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกซื้อได้มากขึ้น แม้ว่าผู้ผลิตอยากจะปรับราคาก็ปรับไม่ได้ เพราะปรับราคาแล้วคนไม่ซื้อ ก็จะเป็นเรื่องของซัพพลายดีมานด์มากกว่า และมองว่าอีกหลายที่ราคาปูนซีเมนต์จะปรับได้เนื่องจากในประเทศปริมาณปูนซีเมนต์ยังมีกำลังการผลิตล้นตลาดอยู่ โดยมีกำลังผลิตรวมในประเทศประมาณ 50ล้านตัน แต่การบริโภคมีเพียง24 ล้านตัน/ปี
นอกจากนี้นายปราโมทย์ ยังกล่าวถึงในแง่การส่งออกโดยเอสซีจี ซิเมนต์ มองว่าการส่งออก 7-8 ล้านตัน/ปี ถือว่าเป็นปริมาณที่มากแล้ว เนื่องจากการส่งออกจำนวนมากจะแบกภาระต้นทุนค่าขนส่งสูงมาก แต่เอสซีจี ซิเมนต์จะปรับตัวโดยการหันไปเพิ่มมูลค่าของซีเมนต์มากขึ้น เช่นคงทนต่อการใช้งานระยะยาว และมองว่าแนวโน้มผู้บริโภคจะเริ่มหันมาสนใจเรื่องแบรนด์มากขึ้น โดยจะดูว่าองค์กรนั้นๆดูแลสังคมดีหรือไม่ ผู้ซื้อจะยอมจ่ายเพราะแบรนด์นั้นๆช่วยดูแลสังคมให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อการส่งออกมีภาระต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น เอสซีจี ซิเมนต์ จึงต้องมองโอกาสการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ประสบผลสำเร็จแล้วในการลงทุนที่กัมพูชา และมีแผนที่จะขยายเฟส 2 ในอนาคตอีกเท่าตัว
ขณะนี้ขอดูความชัดเจนของเศรษฐกิจโลกก่อน โดยที่กัมพูชายังเป็นตลาดที่น่าสนใจเพราะเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วเศรษฐกิจกัมพูชาโต 20% เนื่องจากฐานของตลาดมีขนาดเล็ก มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศ 2-3 ล้านตัน/ปี ขณะที่มีกำลังการผลิตในประเทศเพียง900,000 ตัน/ปี จากโรงงานผลิตแห่งเดียวโดยกลุ่มเอสซีจี ซิเมนต์ ที่ไปลงทุนตั้งโรงงานก่อนหน้านี้ ที่เหลือยังต้องนำเข้าจากประเทศไทย ส่วนการลงทุนที่อินโดนีเซียจะมีความชัดเจนขึ้นในอีก 6 เดือนนับจากนี้ไป
ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มตลาดปูนซีเมนต์ปี 2553 ว่าจะมี 2 ปัจจัยที่เป็นตัวช่วยหลักในการกระตุ้นตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศคือ ราคาพืชผลทางการเกษตรดีขึ้นโดยเฉพาะราคาข้าวที่ราคาสูงขึ้น พอหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวทำให้มีการใช้เงินในการซ่อมแซมบ้าน หรือปลูกบ้านใหม่ และปัจจัยต่อมาเกิดจากกรณีที่มีการประมูลรถไฟฟ้า 2 สายเกิดขึ้น โดยเฉพาะสายสีม่วง จะทำให้มีการใช้ปูนเพื่องานก่อสร้างมากขึ้น ทำให้ตลาดปูนซีเมนต์ปี 2553 ดีกว่า2 ปีที่ผ่านมาโดยจะมีการบริโภคประมาณ 25 ล้านตัน/ปี

นายปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล
"ในแง่ราคาปูนซีเมนต์ มองว่าต่อจากนี้ไปจะเป็นเรื่องของกลไกตลาดมากขึ้น ที่ผู้ผลิตมีโอกาสเลือกซื้อได้มากขึ้น แม้ว่าผู้ประกอบการอยากจะปรับราคาก็ปรับไม่ได้ ปรับราคาแล้วคนไม่ซื้อ ก็จะเป็นเรื่องของซัพพลายดีมานด์มากกว่า"

คำถาม
1.SCG ประสบความสำเร็จในการลงทุนในอาเซียนคือประเทศอะไร
2.ปี 2553 ตลาดSCG จะเสมอตัวหรือขยายตัวเป็นบวก ไม่เกินเท่าไร
3.การส่งออำจำนวนมากมีภาระด้านใดมากที่สุด

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,491 27-30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

รัฐบาล'อภิสิทธิ์'เฮงราคาข้าวขยับ



จัดทำโดย นส.ธารารัชน์ เกษตรธรม
เลขทะเบียน 4902100142

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงสีข้าว เปิดเผยในทิศทางเดียวกันว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ส่งออกข้าวทั้งรายใหญ่และรายเล็กได้ออกรับซื้อข้าวทั้งโดยตรงกับโรงสีและผ่านหยง โดยเสนอราคาซื้อข้าวขาว 5% เฉลี่ยอยู่ที่กระสอบละ 1,600 บาท (100 กก.) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่เสนอซื้อกระสอบละ 1,550 บาท ปลายข้าวจากกระสอบละ 850 บาท เป็นกระสอบละ 970 บาท ปลายข้าวหอมปทุมจากกระสอบละ 950 บาท เป็นกระสอบละ 1,200 บาท แม้ว่าราคาซื้อจะขึ้นไม่มากแต่ความต้องการถือว่ามีความคึกคักเพราะผู้ส่งออกทั้งรายใหญ่และรายเล็กออกไปซื้อหมด อาทิ นครหลวงค้าข้าว ข้าวไชยพร พงษ์ลาภ ไทยมาพรรณ แสงทองค้าข้าว เป็นต้น
เหตุที่ผู้ส่งออกออกมารับซื้อข้าวกันค่อนข้างมากนั้น เนื่องมาจากมีหลายประเทศเปิดประมูลซื้อเช่นญี่ปุ่นประมูลซื้อเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ปริมาณ 75,000 ตัน และเปิดประมูลวันที่ 27 พฤศจิกายนอีก 25,000 ตัน วันที่ 20 พฤศจิกายน ซีเรียประมูลซื้อ 50,000 ตัน ซึ่งทั้งญี่ปุ่นและซีเรียส่วนใหญ่จะต้องการข้าวจากประเทศไทย นอกจากนี้ต้นเดือนหน้าฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลซื้ออีก 600,000 ตัน หลังจากที่เปิดประมูลซื้อไปเมื่อ 4 พฤศจิกายน 250,000 ตัน และอินเดียที่คาดว่าปีนี้จะนำเข้าไม่ต่ำกว่า 3 ล้านตัน จึงทำให้ผู้ส่งออกออกมารับซื้อข้าวเพื่อรับออร์เดอร์ที่ต่างประเทศมีความต้องการ
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าส่งออกข้าวไทยปีหน้าดีกว่าปีนี้แน่เพราะอินเดียไม่ส่งออก ส่วนจะนำเข้าจำนวนเท่าใด หลังจากอินเดียประสบภัยแล้งนั้นต้องติดตามเพราะเวลานี้ตัวเลขการนำเข้าของอินเดียยังไม่ชัดเจน ฟิลิปปินส์จะนำเข้า 2.5-3 ล้านตัน เพราะผลผลิตเสียหายจากพายุหลายลูกประกอบกับจะมีการเลือกตั้งปีหน้า ส่วนอินโดนีเซียต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งหากแล้งจริงไทยอาจได้ออร์เดอร์จากอินโดนีเซียในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนประเทศผู้ส่งออกที่ต้องติดตามดูมีเวียดนาม พม่า
การออกมารับซื้อข้าวของผู้ส่งออกรวมถึงมาตรการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ได้ส่งผลเชิงจิตวิทยาทางการตลาด นอกจากราคาข้าวสารขยับขึ้นแล้ว ได้ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกขยับสูงตามไปด้วย โดยข้าวเปลือกความชื้น 15% อยู่ที่ตันละ 9,200-9,500 บาท ส่วนข้าวเปลือกที่ความชื้นสูงกว่านี้ราคาจะลดลงความชื้นละ 150 บาท ซึ่งข้าวเปลือกที่ชาวนาเก็บเกี่ยวเป็นข้าวสดมีความชื้นสูงราคาซื้อขายจึงมีตั้งแต่ระดับตันละ 7,200 บาทขึ้นไปจนถึง 9,200 บาท
ผลจากราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้นทำให้การตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวของอคส.และ อ.ต.ก.ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน ยังไม่มีชาวนานำข้าวมาขายให้แต่อย่างใด เพราะชาวนาเลือกขายให้กับโรงสี เพราะราคาข้าวเปลือกความชื้น 15% โรงสีรับซื้อที่ตันละ 9,200-9,500 บาท รับเงินสดทันทีขณะที่ราคาตั้งโต๊ะรับซื้อความชื้นเดียวกันตันละ 8,389 บาท แต่ต้องไปรับเงินกับธ.ก.ส.ซึ่งต้องใช้เวลา ชาวนาจึงเลือกขายให้โรงสีแทน
"คิดว่าปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้ารัฐบาลอภิสิทธิ์มีความโชคดีเกี่ยวกับภาวะราคาสินค้าเกษตร ไม่เพียงแต่ข้าวเท่านั้นที่มีทิศทางขาขึ้น มันสำปะหลัง ข้าวโพด รวมถึงสินค้าหมวดปศุสัตว์ไก่ กุ้ง สุกร มีแนวโน้มราคาดีเช่นเดียวกันโดยมีปัจจัยคือภัยธรรมชาติผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวความต้องการบริโภคสินค้าจึงเพิ่มขึ้น"
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยความคืบหน้าการโอนเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน ธ.ก.ส.โอนเงินส่วนต่างให้เกษตรกรแล้ว 55,915 สัญญา เป็นเงิน 823.83 ล้านบาท แบ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 54,168 สัญญา วงเงิน 795.50 ล้านบาท มันสำปะหลัง 11 สัญญา วงเงิน 178.34 ล้านบาท ข้าวเปลือกนาปี 1,736 สัญญา วงเงิน 28.15 ล้านบาท

ที่มา : http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=12545:2009-11-16-03-29-44&catid=87:2009-02-08-11-23-26&Itemid=423

คำถาม :
1. ผู้ส่งออกทั้งรายใหญ่ รายเล็กที่ว่านั้นมีใครบ้าง ?? ยกตัวอย่างมา 3 ราย
2. ปลายปีนี้มีสินค้าเกษตรอะไรบ้างที่ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากข้าว
3. ในปีหน้าออเดอร์ไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากประเทศใดไม่ส่งออกข้าว ??

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

"เศรษฐกิจไทยอยู่อย่างไรในอนาคต"




จัดทำโดย...นางสาวจิรวรรณ ทองแก้ว
เลขทะเบียน..4902100174


จากเวทีสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2553 "เศรษฐกิจไทย อยู่อย่างไรในอนาคต" จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2552
*ศก.ปี53 โต3-5%
รศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2553 เริ่มมีสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นทั้งภาคการผลิตและคำสั่งซื้อ โดยเฉลี่ยทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.0 - 5.0% จากผลของมาตรการต่างๆของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิต อันเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่วนในปี 2552 คาดว่า จะหดตัว 3.0%
อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยง ทางการเมืองที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่น , การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง , ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และแนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น,ราคาน้ำมันโลกที่มีโอกาสขยับไปแตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ / บาร์เรลในปี 2553 จนส่งผลต่อต้นทุนการผลิต การปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นในระยะยาวรัฐบาลควรวางนโยบายแผนชัดเจนต่อการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศระยะยาว รวมถึงประเด็นปัญหาโครงการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ส่งผลให้การลงทุนใหม่ๆในพื้นที่ต้องหยุดชะงักลง และยืดเยื้อไปถึงต้นปี 2553 หากรัฐไม่เร่งแก้ปัญหาให้มีความชัดเจนโดยเร็ว
รศ.ดร.พรายพลกล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นมาตรการที่ถูกต้อง แต่ควรปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้นโดยเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็ง 2 ที่หลายโครงการเป็นโครงการล้างท่อ ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น โครงการลงทุนด้านโลจิสติกส์ ส่วนใหญ่เน้นการปรับปรุงสภาพถนน ขณะที่ระบบรางสภาพค่อนข้างล้าหลังมาก แต่รัฐบาลกลับจัดสรรงบประมาณลงทุนในสัดส่วนน้อยมาก
*เก็บภาษีที่ดิน-มรดก
สอดคล้องกับรศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เห็นว่า โครงการต่างๆ ของรัฐบาลนับว่าเป็นโครงการที่ดี แต่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน ควบคู่ไปกับการเร่งดำเนินนโยบายในการพัฒนาประสิทธิภาพของทั้งภาคอุตสาหกรรม , การเกษตร และการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน โดยรัฐบาลจะต้องเร่งวางนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยจากโอกาสของเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และปรับบทบาทการเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งปรับสัดส่วนการพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกให้สมดุลขึ้นเมื่อเทียบจากปัจจุบัน
"ในเบื้องต้นรัฐควรใช้โครงการไทยเข้มแข็งเป็นโครงการนำร่องในการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการเร่งแก้ปัญหาความล้มเหลวการประสานงานระหว่างรัฐกับรัฐ และรัฐกับเอกชน และควรผลักดันเรื่องภาษีที่ดิน และภาษีมรดกให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม "
*ยุทธศาสตร์เชื่อมกลุ่มจี20
ขณะที่มุมมองจากอดีตรัฐมนตรีการคลัง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวว่าวิกฤติที่เกิดขึ้น ไทยควรเริ่มคิดใหม่ รัฐบาลควรเร่งสร้างเชื่อมั่น อย่ามัวแต่ให้ความสำคัญกับตัวเลขจีดีพีโดย เฉพาะการวางยุทธศาสตร์นำประเทศเชื่อมโยงกลุ่มจี 20 เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศในอนาคตไว้ให้ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯยังมีบทบาทสำคัญในเอเชีย การสร้างสานความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นขึ้นเพราะญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ของไทย
*เจาะกลุ่มตลาดเอเชีย
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานเพื่อการส่งออกและนำเข้าประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าประเทศจะได้รับกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจช่วง 2 ปีแต่สำหรับผู้ประกอบการส่งออกมีการปรับตัวพัฒนาดีขึ้นเห็นได้จากการค้าไปยังประเทศตลาดหลัก สหรัฐฯ ,ยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งเดิมมีสัดส่วนมากถึง 36% ปัจจุบันเหลือ 33% ขณะที่สินค้าส่งออกที่ใช้องค์ความรู้กลับเพิ่มสัดส่วนถึง 60% จาก 46%
"ในเมื่อกระแสเศรษฐกิจหลัก ( อุตสาหกรรม/ส่งออก ) นำพาประเทศไทยไปได้ก็ควรเดินต่อ ซึ่งไทยมีโอกาสสูงจะเป็นศูนย์การค้าของเอเชียได้ ทั้งถนนหนทาง อากาศ สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อระบบขนส่งโลจิสติกส์ได้หมด "
*เปิดฐานลงทุนใหม่เซาเทิร์นซีบอร์ด





ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยวันนี้เรามาถึงครึ่งตุ่มแล้ว แต่เทียบการฟื้นสหรัฐอเมริกา และยุโรปเป็นเพียงเศษ 1 ส่วน 5 ดังนั้นการส่งออกจะไปพึ่งประเทศคู่ค้าเดิม ๆไม่ใช่ ต้องหันมาเน้นประเทศในเอเชีย/ตะวันออกกลางมากขึ้น ซึ่งยังต้องเดินตามกระแสหลักเดิมคือส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมควบคู่ภาคส่งออก ขณะเดียวกันยังต้องเน้นกำลังซื้อในประเทศ ( Domestic Demand )
พร้อมทั้งแนะต่อว่าหากเศรษฐกิจวันนี้จะขับเคลื่อนไปได้ การลงทุนใหม่ต้องเกิด แต่ปัญหาขณะนี้เรากำลังเจอตอจากปัญหามาบตาพุดทำให้ไทยไม่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะสร้างความมั่นใจให้เข้ามาลงทุน ในขณะที่พื้นที่ก็ใช้เต็ม รัฐจึงต้องเร่งเปิดพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งใหม่ คือ เซาเทิร์นซีบอร์ด โดยเร่งเกิดขึ้นได้ภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี โดยโครงการดังกล่าวเป็นประตูฝั่งตะวันตกเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า และเป็นฐานอุตสาหกรรมเหล็ก ,ปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมันเกิดอุตสาหกรรมปลายน้ำ ฯลฯ
*รับกติกากฎเกณฑ์โลก

ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีพลังงาน และประธานที่ปรึกษามูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเดินตามกระแสหลักแม้จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในอนาคต แต่ประเทศยังมีอุปสรรคจากภายในและต่างประเทศที่ต้องปรับตัวเองมากพอสมควร ทั้งจาก 1.การแข่งขันสูง 2.ต้นทุน 3.อุปสรรคจากกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ ของประเทศในกลุ่มต่างๆ ซึ่งจะมีส่งผลต่อการดำรงชีวิต การพัฒนาฟื้นเศรษฐกิจที่จะตามมา จะปรับตัวอย่างไรให้อยู่กับชุมชนสิ่งแวดล้อมได้ รวมทั้งปัญหาที่ภาครัฐ ไม่ได้ออกกฎเกณฑ์ระเบียบ สร้างกฎกติกาให้ภาคธุรกิจชัดเจน อาทิในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและชุมชนในโครงการมาบตาพุด
"หากประเทศไม่ปรับตัว เมื่อเกิดวิกฤติอีกครั้ง เศรษฐกิจประเทศก็คงเติบโตแบบไปเรื่อย ๆ ปีละ 2-3% ขณะที่ประเทศอื่นล้ำหน้าไปก่อน และเมื่อมีกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาเราจะไม่ทันกาลกับการปรับตัว"


คำถาม
1.เศรษฐกิจในประเทศไทยมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องใดบ้าง?
2.โครงการต่าง ๆของรัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขและดำเนินนโยบายในการพัฒนาประสิทธิภาพอย่างใด?
3."หากเศรษฐกิจวันนี้จะขับเคลื่อนไปได้ การลงทุนใหม่ต้องเกิด" เป็นคำกล่าวของใคร

แหล่งที่มา.... จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2,481 22 พ.ย. - 25 พ.ย. 2552

แก้ปัญหาภาษีลดความเหลื่อมล้ำของสังคม



จัดทำโดย นางสาวพริยาภรณ์ บุตรพรม เลขทะเบียน 4902100180



การจัดสัมมนาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ )ภายใต้หัวข้อ"มาตรการการคลังเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม"ซึ่งวิเคราะห์ถึงภาระภาษีทางตรง, ภาษีทางอ้อมและการขยายฐานภาษี


*รัฐพึ่งภาษีทางอ้อมมากกว่าทางตรง
ดร.สมชัย จิตสุชน รองประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงภาพรวมของโครงสร้างภาษีในประเทศไทย ว่า สัดส่วนรายได้จัดเก็บภาษีต่อรายได้ประชาชาติของไทยยังค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชียด้วยกัน อีกทั้งรัฐยังพึ่งพิงภาษีทางอ้อมมากกว่าภาษีทางตรง โดยที่สัดส่วนภาษีการจัดเก็บมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงภาษีนิติบุคคลที่มีสัดส่วนสูงมาก ในกลุ่มภาษีทางตรง ซึ่งคิดแล้วรายได้จัดเก็บภาษีนิติบุคคลมากกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถึง 2 เท่าตัวในภาวะปกติ เช่นเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ซึ่งเป็นภาษีทางอ้อม ก็มีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะหลัง
"ปัจจุบันสัดส่วนภาษีต่อรายได้ประชาชาติของไทยยังคงต่ำ หรือคิดเป็น 16-18% เท่านั้น"
ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีของไทยมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างสูง โดยปัจจัยที่มีส่วนทำให้รายได้ภาษีของประเทศไทยต่ำได้แก่ สัดส่วนแรงงานนอกระบบที่สูง ทั้งในส่วนของภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร อีกทั้งการกระจายรายได้ที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้มีผู้มีรายได้น้อยกว่าเกณฑ์ภาษีจำนวนมาก ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงก็มีช่องทางในการลดหย่อน หรือมีการโยกย้ายฐานเงินได้ไปสู่ฐานที่เสียภาษีต่ำ นอกจากนี้ยังมีกรณีการยกเว้นภาษีให้ หรือให้ส่วนลดในอัตราที่สูง เพราะฉะนั้น จึงเห็นควรที่จะให้มีการศึกษาการกระจายภาระภาษีตามกลุ่มประชากร และภาคเศรษฐกิจว่ามีความเหมาะสมเพียงใด และควรที่จะปรับเปลี่ยนฐานภาษีให้สอดคล้องกับหลักของความเสมอภาค
"โครงสร้างด้านภาษีของประเทศไทยมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างสูง โดยภาษีนิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มมีความผันผวนสูง ซึ่งทั้ง 2 ภาษีดังกล่าวนั้น มีผลต่อรายได้ของรัฐบาลที่จะช่วยทางด้านสังคม รวมถึงดูแลคนยากจน และช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ"
สำหรับภาษีทางตรงนั้นได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยในส่วนของผลการศึกษาภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น พบว่าจำนวนผู้มีงานทำที่เข้าสู่ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีจำนวนน้อย ส่วนผู้ที่เข้ามาอยู่ในฐานภาษีก็สามารถหักค่าลดหย่อนได้มาก ทำให้อัตราภาษีที่แท้จริงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น จากผลการศึกษาพบว่าสัดส่วนภาษีต่อรายได้อยู่ในระดับที่ต่ำ ที่สำคัญบริษัทขนาดเล็กมีสัดส่วนการชำระภาษีต่อรายได้มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ก็สามารถขอลดหย่อน หรือได้รับการยกเว้นภาษีเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนรายได้ได้มากกว่าบริษัทขนาดเล็ก
*จัดเก็บภาษีผู้มีรายได้ทุกคน
*ทบทวนสิทธิประโยชน์"บีโอไอ"
"ตัวอย่างข้อเสนอแนะในส่วนของภาษีทางตรงนั้น มองว่าควรที่จะมีการขยายความครอบคลุมบุคคลธรรมดาผู้มีรายได้ทุกคนให้เข้าสู่ระบบจัดเก็บภาษี โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระภาษี"
ส่วนภาษีทางอ้อมนั้น ได้แก่การจัดเก็บภาษีในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีศุลกากร และภาษีสรรพสามิต ภาษีดังกล่าวทั้ง 3 ประเภทถือเป็นแหล่งรายได้ทางภาษีทางอ้อมที่สำคัญของรัฐ ประเด็นที่สำคัญคือภาษีในส่วนของศุลกากรที่บทบาทจะลดลงไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นจากปัจจัยของการปฏิรูปโครงสร้างภาษีศุลกากร และการเปิดเสรีทางการค้า (FTA) ซึ่งทำให้อัตราภาษีโดยเฉลี่ยลดลงมา อัตราภาษีนำเข้าที่เก็บได้จริงค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำเข้าที่มีมูลค่านำเข้าสูง ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การใช้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนประหยัดภาษีได้มาก เป็นต้น
ดังนั้นในส่วนของภาษีทางอ้อม จึงควรจะปรับการดำเนินนโยบายบางด้าน เช่น การทบทวนกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงไร เพราะนอกจากจะไปลดรายได้ภาษีอากรของรัฐแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายได้ประโยชน์ ในขณะที่อีกจำนวนมากไม่ได้ประโยชน์ เป็นต้น"
*ขยายฐานภาษีวัยเกษียณ /จัดเก็บภาษีทรัพย์สิน
จากการศึกษาประเด็นปัญหาเรื่องของภาษี ดร.สมชัย ยังได้ฝากประเด็นไปยังรัฐบาลว่า ควรพิจารณาขยายฐานภาษีสำหรับผู้ที่ถึงวัยเกษียณแต่มีรายได้หลักจากทรัพย์สิน เนื่องจากผู้ไม่เสียภาษีจำนวนมากเป็นกลุ่มที่เกษียณแล้ว แต่มีทรัพย์สินมากกว่าผู้เสียภาษี โดยเฉพาะบ้าน ที่ดิน เพื่อที่อยู่อาศัยและยานพาหนะ ทั้งนี้ การขยายฐานภาษีเป็นเรื่องเร่งด่วนในการปรับโครงสร้างภาษีของไทย โดยเฉพาะการขยายความครอบคลุม ไปสู่ผู้ที่ยังไม่ได้เสียภาษี แต่มีความสามารถในการเสียภาษี รวมถึงการส่งเสริมให้มีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้ว่าจะมีการประเมินอัตราภาษีได้ยากและมีต้นทุนจัดเก็บภาษีสูง แต่ก็ควรเร่งจัดทำเพื่อเพิ่มรายได้ภาษีให้กับประเทศ
ขณะที่การลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษี เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น ส่งผลต่อความเสมอภาคซึ่งอาจส่งผลให้ผู้มีรายได้สูง หรือนิติบุคคลขนาดใหญ่ กลับเสียภาษีน้อยกว่าความสามารถในการจ่าย อีกทั้งการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยังทำให้ภาษีมีลักษณะก้าวหน้าน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และการยกเว้นเกินความจำเป็นในกรณีสิทธิประโยชน์บีโอไอ อาจไม่ทำให้เกิดประโยชน์มากนัก เพราะเป็นการลดขนาดของฐานภาษี
ด้านดร.อมรเทพ จาวะลา ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากการศึกษาในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคล ซึ่งนับว่าเป็นภาษีทางตรง พบว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีจำนวนผู้ที่เข้าอยู่ในระบบภาษีน้อยมาก ขณะที่ผู้ที่อยู่ในฐานภาษีเองก็สามารถหักลดหย่อนภาษีได้มากถึง 20% ของรายได้ ส่งผลให้ท้ายที่สุดอัตราภาษีที่แท้จริงจะต่ำเพียง 5% ของรายได้ โดยผู้ที่เสียภาษีมีจำนวนไม่ถึงครึ่งของผู้ที่มีงานทำ อีกทั้งผู้ที่ขอลดหย่อนภาษีส่วนใหญ่ก็จะเป็นประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯที่มีรายได้สูง
ทั้งนี้ มองว่าผู้ที่มีรายได้ทุกคนควรที่จะอยู่ในระบบภาษี ถึงแม้ว่าค่าลดหย่อนภาษีบางประเภทจะช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่มีภาระ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีลูก ก็มีสิทธิ์สมควรที่จะได้รับการลดหย่อน ขณะที่ค่าลดหย่อนบางประเภทที่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน อาจจะส่งผลทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลผู้ที่มีรายได้สูงมากจนเกินไป
*แฉคืนภาษีปีละ 1.3-1.4 แสนล้านบ.
ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีศุลกากร และภาษีสรรพสามิตนั้น มีผลต่อภาษีทางอ้อมมากถึง 95-96% โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากฐานการบริโภค และการให้บริการ ส่งผลทำให้สินค้าทุกชนิดเข้าข่ายที่จะต้องเสียภาษี แต่รัฐบาลก็มีข้อยกเว้นมากถึง 28 หัวข้อสินค้าใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น อาหาร และพืชผลการเกษตร เป็นต้น โดยสินค้าบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากบีโอไอด้วย ทำให้ในแต่ละปีจะมีการมาขอคืนภาษีสูงมากถึง 130,000-140,000 ล้านบาท
"จากประเด็นข้างต้น อาจจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งประเด็นที่ตามมาก็คือทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ หรือต้องจ่ายคืนภาษีกลับไปให้ทั้งๆที่ไม่ได้มีการส่งออก ส่วนภาษีศุลกากรนั้น แน่นอนว่าในอนาคตบทบาทในการจัดเก็บจะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการปฏิรูปโครงสร้างภาษี และการเปิดเสรีทางการค้า ทำให้ผู้นำเข้าหลายกลุ่มได้รับประโยชน์"
*มาตรการยกเว้นภาษี: สร้างความเหลื่อมล้ำ
ด้านนายโกวิทย์ โปษยานนท์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า นโยบายการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของรัฐบาลนั้น มีผลทำให้ฐานรายได้ของรัฐจัดเก็บได้ลดลง และจะส่งผลต่อปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ โดยหากจะกล่าวก็คือ ไม่มีที่ใดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีให้กับผู้ที่มีรายได้ เพราะการลดภาษีให้กับบุคคลธรรมดา ซึ่งมีจำนวนประมาณ 10 ล้านคน หรือ 15% ของประชากรทั่วประเทศ โดยจะมีผลกระทบต่อการกระจายรายได้ นอกจากนี้ยังพบว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารั่วไหลได้ 2 ทางคือการไม่ยื่นแบบเสียภาษี กับการยื่นแต่แสดงรายได้ต่ำกว่าเป็นจริง โดยส่วนใหญ่จะพบกับแรงงานนอกระบบ หรือรอยต่อระหว่างในระบบกับนอกระบบ





คำถาม
1.ปัจจัยที่มีส่วนทำให้รายได้ภาษีของประเทศไทยต่ำได้แก่ปัจัยอะไรบ้าง
2.แหล่งรายได้ทางภาษีที่สำคัญของรัฐได้มาจากแหล่งรายได้ทางด้านใดและมีอะไรบ้าง
3.การที่รัฐบาลมีข้อยกเว้นเรื่องภาษีจากการบริโภคและการให้บริการมากถึง 28 หัวข้อ อาจจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ใบกำกับ ภาษีปลอม ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้มากจริงหรือไม่ เพราะเหตุใด

แหล่งที่มาของบทความ....หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2,483 29 พ.ย. - 02 ธ.ค. 2552