สคส.จากในหลวงถึงประชาชน

สคส.จากในหลวงถึงประชาชน

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แก้ปัญหาภาษีลดความเหลื่อมล้ำของสังคม



จัดทำโดย นางสาวพริยาภรณ์ บุตรพรม เลขทะเบียน 4902100180



การจัดสัมมนาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ )ภายใต้หัวข้อ"มาตรการการคลังเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม"ซึ่งวิเคราะห์ถึงภาระภาษีทางตรง, ภาษีทางอ้อมและการขยายฐานภาษี


*รัฐพึ่งภาษีทางอ้อมมากกว่าทางตรง
ดร.สมชัย จิตสุชน รองประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงภาพรวมของโครงสร้างภาษีในประเทศไทย ว่า สัดส่วนรายได้จัดเก็บภาษีต่อรายได้ประชาชาติของไทยยังค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชียด้วยกัน อีกทั้งรัฐยังพึ่งพิงภาษีทางอ้อมมากกว่าภาษีทางตรง โดยที่สัดส่วนภาษีการจัดเก็บมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงภาษีนิติบุคคลที่มีสัดส่วนสูงมาก ในกลุ่มภาษีทางตรง ซึ่งคิดแล้วรายได้จัดเก็บภาษีนิติบุคคลมากกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถึง 2 เท่าตัวในภาวะปกติ เช่นเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ซึ่งเป็นภาษีทางอ้อม ก็มีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะหลัง
"ปัจจุบันสัดส่วนภาษีต่อรายได้ประชาชาติของไทยยังคงต่ำ หรือคิดเป็น 16-18% เท่านั้น"
ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีของไทยมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างสูง โดยปัจจัยที่มีส่วนทำให้รายได้ภาษีของประเทศไทยต่ำได้แก่ สัดส่วนแรงงานนอกระบบที่สูง ทั้งในส่วนของภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร อีกทั้งการกระจายรายได้ที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้มีผู้มีรายได้น้อยกว่าเกณฑ์ภาษีจำนวนมาก ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงก็มีช่องทางในการลดหย่อน หรือมีการโยกย้ายฐานเงินได้ไปสู่ฐานที่เสียภาษีต่ำ นอกจากนี้ยังมีกรณีการยกเว้นภาษีให้ หรือให้ส่วนลดในอัตราที่สูง เพราะฉะนั้น จึงเห็นควรที่จะให้มีการศึกษาการกระจายภาระภาษีตามกลุ่มประชากร และภาคเศรษฐกิจว่ามีความเหมาะสมเพียงใด และควรที่จะปรับเปลี่ยนฐานภาษีให้สอดคล้องกับหลักของความเสมอภาค
"โครงสร้างด้านภาษีของประเทศไทยมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างสูง โดยภาษีนิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มมีความผันผวนสูง ซึ่งทั้ง 2 ภาษีดังกล่าวนั้น มีผลต่อรายได้ของรัฐบาลที่จะช่วยทางด้านสังคม รวมถึงดูแลคนยากจน และช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ"
สำหรับภาษีทางตรงนั้นได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยในส่วนของผลการศึกษาภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น พบว่าจำนวนผู้มีงานทำที่เข้าสู่ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีจำนวนน้อย ส่วนผู้ที่เข้ามาอยู่ในฐานภาษีก็สามารถหักค่าลดหย่อนได้มาก ทำให้อัตราภาษีที่แท้จริงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น จากผลการศึกษาพบว่าสัดส่วนภาษีต่อรายได้อยู่ในระดับที่ต่ำ ที่สำคัญบริษัทขนาดเล็กมีสัดส่วนการชำระภาษีต่อรายได้มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ก็สามารถขอลดหย่อน หรือได้รับการยกเว้นภาษีเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนรายได้ได้มากกว่าบริษัทขนาดเล็ก
*จัดเก็บภาษีผู้มีรายได้ทุกคน
*ทบทวนสิทธิประโยชน์"บีโอไอ"
"ตัวอย่างข้อเสนอแนะในส่วนของภาษีทางตรงนั้น มองว่าควรที่จะมีการขยายความครอบคลุมบุคคลธรรมดาผู้มีรายได้ทุกคนให้เข้าสู่ระบบจัดเก็บภาษี โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระภาษี"
ส่วนภาษีทางอ้อมนั้น ได้แก่การจัดเก็บภาษีในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีศุลกากร และภาษีสรรพสามิต ภาษีดังกล่าวทั้ง 3 ประเภทถือเป็นแหล่งรายได้ทางภาษีทางอ้อมที่สำคัญของรัฐ ประเด็นที่สำคัญคือภาษีในส่วนของศุลกากรที่บทบาทจะลดลงไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นจากปัจจัยของการปฏิรูปโครงสร้างภาษีศุลกากร และการเปิดเสรีทางการค้า (FTA) ซึ่งทำให้อัตราภาษีโดยเฉลี่ยลดลงมา อัตราภาษีนำเข้าที่เก็บได้จริงค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำเข้าที่มีมูลค่านำเข้าสูง ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การใช้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนประหยัดภาษีได้มาก เป็นต้น
ดังนั้นในส่วนของภาษีทางอ้อม จึงควรจะปรับการดำเนินนโยบายบางด้าน เช่น การทบทวนกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงไร เพราะนอกจากจะไปลดรายได้ภาษีอากรของรัฐแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายได้ประโยชน์ ในขณะที่อีกจำนวนมากไม่ได้ประโยชน์ เป็นต้น"
*ขยายฐานภาษีวัยเกษียณ /จัดเก็บภาษีทรัพย์สิน
จากการศึกษาประเด็นปัญหาเรื่องของภาษี ดร.สมชัย ยังได้ฝากประเด็นไปยังรัฐบาลว่า ควรพิจารณาขยายฐานภาษีสำหรับผู้ที่ถึงวัยเกษียณแต่มีรายได้หลักจากทรัพย์สิน เนื่องจากผู้ไม่เสียภาษีจำนวนมากเป็นกลุ่มที่เกษียณแล้ว แต่มีทรัพย์สินมากกว่าผู้เสียภาษี โดยเฉพาะบ้าน ที่ดิน เพื่อที่อยู่อาศัยและยานพาหนะ ทั้งนี้ การขยายฐานภาษีเป็นเรื่องเร่งด่วนในการปรับโครงสร้างภาษีของไทย โดยเฉพาะการขยายความครอบคลุม ไปสู่ผู้ที่ยังไม่ได้เสียภาษี แต่มีความสามารถในการเสียภาษี รวมถึงการส่งเสริมให้มีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้ว่าจะมีการประเมินอัตราภาษีได้ยากและมีต้นทุนจัดเก็บภาษีสูง แต่ก็ควรเร่งจัดทำเพื่อเพิ่มรายได้ภาษีให้กับประเทศ
ขณะที่การลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษี เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น ส่งผลต่อความเสมอภาคซึ่งอาจส่งผลให้ผู้มีรายได้สูง หรือนิติบุคคลขนาดใหญ่ กลับเสียภาษีน้อยกว่าความสามารถในการจ่าย อีกทั้งการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยังทำให้ภาษีมีลักษณะก้าวหน้าน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และการยกเว้นเกินความจำเป็นในกรณีสิทธิประโยชน์บีโอไอ อาจไม่ทำให้เกิดประโยชน์มากนัก เพราะเป็นการลดขนาดของฐานภาษี
ด้านดร.อมรเทพ จาวะลา ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากการศึกษาในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคล ซึ่งนับว่าเป็นภาษีทางตรง พบว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีจำนวนผู้ที่เข้าอยู่ในระบบภาษีน้อยมาก ขณะที่ผู้ที่อยู่ในฐานภาษีเองก็สามารถหักลดหย่อนภาษีได้มากถึง 20% ของรายได้ ส่งผลให้ท้ายที่สุดอัตราภาษีที่แท้จริงจะต่ำเพียง 5% ของรายได้ โดยผู้ที่เสียภาษีมีจำนวนไม่ถึงครึ่งของผู้ที่มีงานทำ อีกทั้งผู้ที่ขอลดหย่อนภาษีส่วนใหญ่ก็จะเป็นประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯที่มีรายได้สูง
ทั้งนี้ มองว่าผู้ที่มีรายได้ทุกคนควรที่จะอยู่ในระบบภาษี ถึงแม้ว่าค่าลดหย่อนภาษีบางประเภทจะช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่มีภาระ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีลูก ก็มีสิทธิ์สมควรที่จะได้รับการลดหย่อน ขณะที่ค่าลดหย่อนบางประเภทที่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน อาจจะส่งผลทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลผู้ที่มีรายได้สูงมากจนเกินไป
*แฉคืนภาษีปีละ 1.3-1.4 แสนล้านบ.
ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีศุลกากร และภาษีสรรพสามิตนั้น มีผลต่อภาษีทางอ้อมมากถึง 95-96% โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากฐานการบริโภค และการให้บริการ ส่งผลทำให้สินค้าทุกชนิดเข้าข่ายที่จะต้องเสียภาษี แต่รัฐบาลก็มีข้อยกเว้นมากถึง 28 หัวข้อสินค้าใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น อาหาร และพืชผลการเกษตร เป็นต้น โดยสินค้าบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากบีโอไอด้วย ทำให้ในแต่ละปีจะมีการมาขอคืนภาษีสูงมากถึง 130,000-140,000 ล้านบาท
"จากประเด็นข้างต้น อาจจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งประเด็นที่ตามมาก็คือทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ หรือต้องจ่ายคืนภาษีกลับไปให้ทั้งๆที่ไม่ได้มีการส่งออก ส่วนภาษีศุลกากรนั้น แน่นอนว่าในอนาคตบทบาทในการจัดเก็บจะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการปฏิรูปโครงสร้างภาษี และการเปิดเสรีทางการค้า ทำให้ผู้นำเข้าหลายกลุ่มได้รับประโยชน์"
*มาตรการยกเว้นภาษี: สร้างความเหลื่อมล้ำ
ด้านนายโกวิทย์ โปษยานนท์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า นโยบายการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของรัฐบาลนั้น มีผลทำให้ฐานรายได้ของรัฐจัดเก็บได้ลดลง และจะส่งผลต่อปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ โดยหากจะกล่าวก็คือ ไม่มีที่ใดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีให้กับผู้ที่มีรายได้ เพราะการลดภาษีให้กับบุคคลธรรมดา ซึ่งมีจำนวนประมาณ 10 ล้านคน หรือ 15% ของประชากรทั่วประเทศ โดยจะมีผลกระทบต่อการกระจายรายได้ นอกจากนี้ยังพบว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารั่วไหลได้ 2 ทางคือการไม่ยื่นแบบเสียภาษี กับการยื่นแต่แสดงรายได้ต่ำกว่าเป็นจริง โดยส่วนใหญ่จะพบกับแรงงานนอกระบบ หรือรอยต่อระหว่างในระบบกับนอกระบบ





คำถาม
1.ปัจจัยที่มีส่วนทำให้รายได้ภาษีของประเทศไทยต่ำได้แก่ปัจัยอะไรบ้าง
2.แหล่งรายได้ทางภาษีที่สำคัญของรัฐได้มาจากแหล่งรายได้ทางด้านใดและมีอะไรบ้าง
3.การที่รัฐบาลมีข้อยกเว้นเรื่องภาษีจากการบริโภคและการให้บริการมากถึง 28 หัวข้อ อาจจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ใบกำกับ ภาษีปลอม ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้มากจริงหรือไม่ เพราะเหตุใด

แหล่งที่มาของบทความ....หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2,483 29 พ.ย. - 02 ธ.ค. 2552

4 ความคิดเห็น:

  1. คำตอบคือ
    1.ได้แก่ สัดส่วนแรงงานนอกระบบที่สูง ทั้งในส่วนของภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร อีกทั้งการกระจายรายได้ที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้มีผู้มีรายได้น้อยกว่าเกณฑ์ภาษีจำนวนมาก ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงก็มีช่องทางในการลดหย่อน หรือมีการโยกย้ายฐานเงินได้ไปสู่ฐานที่เสียภาษีต่ำ
    2.แหล่งรายได้ทางภาษีทางตรง ภาษีทางอ้อม และฐานภาษี ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล
    3.จริง เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งไม่มายื่นภาษีหรืออาจนำใบภาษีปลอมมาใช้

    นางสาวชลนิสา จงจิตร เลขทะเบียน 5002110021

    ตอบลบ
  2. 1. สัดส่วนแรงงานนอกระบบที่สูง ทั้งในส่วนของภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร อีกทั้งการกระจายรายได้ที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้มีผู้มีรายได้น้อยกว่าเกณฑ์ภาษีจำนวนมาก ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงก็มีช่องทางในการลดหย่อน หรือมีการโยกย้ายฐานเงินได้ไปสู่ฐานที่เสียภาษีต่ำ
    2.แหล่งรายได้ทางภาษีทางตรง ภาษีทางอ้อม และฐานภาษี ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล
    3.จริง เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งไม่มายื่นภาษีหรืออาจนำใบภาษีปลอมมาใช้
    นางสาว พรทิพย์ คำตะโหนด เลขทะเบียน 4902100067

    ตอบลบ
  3. คำตอบ นางสาวสุกัญญา ธรรมประเสริฐ เลขทะเบียน 4902100168
    1. สัดส่วนแรงงานนอกระบบที่สูง ทั้งในส่วนของภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร อีกทั้งการกระจายรายได้ที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้มีผู้มีรายได้น้อยกว่าเกณฑ์ภาษีจำนวนมาก ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงก็มีช่องทางในการลดหย่อน หรือมีการโยกย้ายฐานเงินได้ไปสู่ฐานที่เสียภาษีต่ำ
    2.แหล่งรายได้ทางภาษีทางตรง ภาษีทางอ้อม และฐานภาษี ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล
    3.จริง เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งไม่มายื่นภาษีหรืออาจนำใบภาษีปลอมมาใช้

    ตอบลบ
  4. คำตอบคือ
    1. สัดส่วนแรงงานนอกระบบที่สูง ทั้งในส่วนของภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร อีกทั้งการกระจายรายได้ที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้มีผู้มีรายได้น้อยกว่าเกณฑ์ภาษีจำนวนมาก ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงก็มีช่องทางในการลดหย่อน หรือมีการโยกย้ายฐานเงินได้ไปสู่ฐานที่เสียภาษีต่ำ
    2.แหล่งรายได้ทางภาษีทางตรง ภาษีทางอ้อม และฐานภาษี ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล
    3.จริง เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งไม่มายื่นภาษีหรืออาจนำใบภาษีปลอมมาใช้

    นางสาวดวงนภา สีทร เลขทะเบียน 4902100140

    ตอบลบ