สคส.จากในหลวงถึงประชาชน

สคส.จากในหลวงถึงประชาชน

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

แบงก์ตัวการสร้างหนี้เสียปล่อยกู้เกินรายได้

จัดทำโดย นางสาวจิรวรรณ ทองแก้ว เลขทะเบียน 4902100174

เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ "กัลยาณี"ตั้งข้อสังเกตแบงก์/นอนแบงก์อนุมัติวงเงินสินเชื่อให้เกินความสามารถของรายได้ลูกหนี้ ยกเคสกินเงินเดือน 30,000 บาทแต่มีบัตรเครดิต37ใบมูลหนี้รวมกว่า 5 ล้านบาท พร้อมแนะรัฐแก้ปัญหาคอขวดหนี้นอกระบบ กรณีลูกหนี้คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ หากต้องกลับไปหาเจ้าหนี้เดิมอาจถูกเช็กบิล
นางกัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแนวนโยบายแก้ไขหนี้นอกระบบของรัฐบาลว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาตนเกรงว่าลูกหนี้ที่ขึ้นทะเบียนจะไม่กล้าพอที่จะให้ข้อมูลของเจ้าหนี้ รัฐบาลจึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาคอขวด โดยต้องมีคนกลางในการให้ข้อมูลลูกหนี้ที่ถูกต้อง นอกจากนี้ความยากง่ายยังขึ้นอยู่กับการแยกระหว่างหนี้เทียมและหนี้จริง ที่สำคัญ กรณีลูกหนี้ขึ้นทะเบียนกับธนาคารออมสินและ/หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ถ้าคุณสมบัติไม่ผ่าน ลูกหนี้ก็อาจต้องประสบปัญหาหากต้องกลับไปหาเจ้าหนี้ ซึ่งอาจจะถูกเล่นงาน (เช็กบิล)
เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้ ฯ ได้กล่าวต่อว่า จากบทบาทที่ต้องประสานงานกับลูกหนี้มานาน 7 ปี มีข้อสังเกตว่าทำไมสถาบันการเงิน หรือที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์)ซึ่งเป็นผู้ออกอนุมัติสินเชื่อ /การให้วงเงินบัตรเครดิตกันมากเกินกำลังรายได้ของผู้ถือบัตรหรือลูกหนี้ ทั้งๆที่ปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร ) ในทางปฏิบัติจึงไม่แน่ใจว่าผู้ออกบัตรทั้งหลายได้มีการใช้ข้อมูลเครดิตบูโร ไปประกอบการพิจารณาก่อนการอนุมัติออกบัตรหรือพิจารณาวงเงินสินเชื่อจริงหรือไม่ เพราะจากฐานข้อมูลปรากฏชัดว่า มูลหนี้ของคนเมืองสูงกว่ารายได้ประจำค่อนข้างมาก ซึ่งน่าเป็นห่วงไม่ว่าจะเป็นประเภทหนี้บ้านที่อยู่อาศัย, หนี้บัตรเครดิต และหนี้เช่าซื้อ โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิต
ยกตัวอย่าง ลูกหนี้รายหนึ่งเงินเดือน 30,000บาท แต่กลับมีหนี้สินรวมกว่า 5 ล้านบาท จากการเป็นหนี้บัตรเครดิตรวม 37 ใบ หรือลูกหนี้บางรายมีเงินเดือน 12,000 บาท แต่กลับมีหนี้บัตรเครดิตมากว่า 1 ล้านบาท ,บ้างเงินเดือน 24,000 บาท มีบัตรเครดิต 11 ใบ มูลหนี้รวม 600,000 บาท โดยบัตรเครดิตที่มีการใช้วงเงินต่ำสุดอยู่ที่ 90,000 บาทต่อบัตร
นอกจากนี้ยังสุ่มพบลูกหนี้ซึ่งเป็นพนักงานการบินไทย หลังการหักค่าใช้จ่ายแล้วมีเงินเดือนเหลือเพียง1,400 บาท สาเหตุที่สำคัญ เพราะพนักงานเหล่านี้เดิมมีรายได้รวม (บวกค่าโอที/เบี้ยเลี้ยง ) ต่อเดือนมากถึง 90,000 บาท จำนวนนี้เป็นเงินเดือนสุทธิ 50,000 บาทแต่หลังพนักงานกลุ่มนี้ถูกลดเงินเดือนและลดรายได้อื่นๆลงจำนวนมาก ทำให้พนักงานหลายคนต้องแบกรับภาระหนี้ซึ่งมีอยู่เท่านี้ ขณะนี้กำลังขอให้สหภาพแรงงานการบินไทยหารือกับฝ่ายจัดการเพื่อหาทางแก้ไขภาพรวม
" ปัญหาหนี้ต้องแก้ไขทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยในส่วนเจ้าหนี้นอกจากมีการคิดดอกเบี้ยผิดพลาดหรือออกบัตรเครดิตเกินกำลังความสามารถในการใช้คืนหนี้ของลูกหนี้แล้ว กรณีลูกหนี้เป็นหนี้บัตรเครดิตก็มีการออกวงเงินสินเชื่อบุคคลให้รายเดิมหมุนเวียนใช้อยู่อีก เท่ากับเป็นการสร้างภาระหนี้ให้ลูกหนี้โดยรายได้ยังเท่าเดิม ที่สำคัญการแก้ไขหนี้ที่ผ่านมา แม้ลูกหนี้จะมีข้อสรุปแล้ว แต่กลับถูกยึดบ้านหรือหลักประกัน เพราะกระบวนการทางกฎหมายและศาลไม่ได้แก้ไขให้สอดคล้องกัน บางกรณีเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตแต่ต้องถูกฟ้องยึดบ้าน" นางกัลยาณีกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,488 17-19ธันวาคม พ.ศ. 2552

คำถาม
1.นโยบายแก้ไขหนี้นอกระบบของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดีแต่ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นคืออะไร
2.มูลหนี้ของคนเมืองสูงกว่ารายได้ประจำค่อนข้างมาก เกิดจากสาเหตุใด
3.มีการสุ่มพบลูกหนี้ซึ่งเป็นพนักงานการบินไทย พนักงานกลุ่มนี้ถูกลดเงินเดือนและลดรายได้อื่นๆลงจำนวนมาก ทำให้พนักงานหลายคนต้องแบกรับภาระหนี้สิน ดังนั้นหน่วยงานไหนที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้บ้าง

วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2553

ครม.ไฟเขียว4มาตรการภาษี

ผู้จัดทำ นางสาวพริยาภรณ์ บุตรพรม
เลขทะเบียน 4902100180

ครม. ไฟเขียวปรับโครงสร้างพิกัดอัตราภาษีศุลกากร 13 รายการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของผู้ประกอบการ
คาดส่งผลต่อรายได้รัฐลดปีละ 35 ล้านบาท พร้อมคลอดมาตรการภาษีหนุนการออมเพื่อการชราภาพ , กบข.และ กสล. โดยมีมติให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผลประโยชน์ที่สมาชิกได้รับ /มาตรการภาษีช่วยเหลือคนพิการ ให้กับผู้ประกอบการ/นิติบุคคลที่รับคนพิการเข้าทำงาน และมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้ยืดอายุมาตรการต่ออีก 1 ปี
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 เกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพิกัดศุลกากร ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย 13 รายการ

การปรับปรุงโครงสร้างภาษีดังกล่าว นายประดิษฐ์ กล่าวว่าจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาความลักลั่นของโครงสร้างภาษีนำเข้าระหว่างอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เนื่องจากปัจจุบันยังคงมีวัตถุดิบ/ปัจจัยการผลิตนำเข้าบางรายการที่ยังไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ หรือมีการผลิตได้แต่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ และยังคงมีอัตราอากรขาเข้าในอัตราที่สูงกว่าอัตราอากรตามโครงสร้างการผลิต 3 อัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด ( 1% สำหรับวัตถุดิบ, 5% สำหรับสินค้ากึ่งสำเร็จรูป และ 10% สำหรับสินค้าสำเร็จรูป) ทำให้เกิดปัญหาความลักลั่นของโครงสร้างภาษีนำเข้า และเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย
ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงเห็นควรให้ปรับปรุงโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากรวัตถุดิบ/ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ดังนี้

1. ปรับปรุงโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากรวัตถุดิบ / ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยจำนวน 9 ประเภทย่อย

รายการ อัตราปัจจุบัน อัตราใหม่

เมล็ดโกโก้ ร้อยละ 30 ร้อยละ 5
สิ่งสกัดจากมอลต์ ร้อยละ 35 ยกเว้นอากร
สินแร่ หัวแร่ทองแดง ร้อยละ 10 ยกเว้นอากร
ก้านไม้ขีด ร้อยละ 40 ยกเว้นอากร
เฉพาะถังบรรจุก๊าซธรรมชาติ จัดทำด้วยเหล็กกล้า ร้อยละ 17 ยกเว้นอากร

(1 มกราคม 2552 - 31 ธันวาคม 2553)

2. ขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรขาเข้าถังบรรจุก๊าซธรรมชาติประเภทถังเหล็ก จำนวน 4 ประเภทย่อย
3. ปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำรายการสินค้าที่มีการปรับปรุงโครงสร้างอัตราขาเข้าไปแล้ว จำนวน 3 ประเภทย่อย
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในส่วนของภาษีศุลกากรประมาณปีละ 35 ล้านบาท อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศที่ได้รับ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ให้สามารถแข่งขันได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตในส่วนของภาระภาษีนำเข้าลดลง
นอกจากนี้ครม. ยังมีมติเห็นชอบในส่วนของมาตรการภาษีสรรพากร ประกอบด้วย 1.มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการออมเพื่อการชราภาพ , กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสล.) โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินหรือผลประโยชน์ที่สมาชิกได้รับจากทั้ง 2 กองทุนในกรณีพ้นสมาชิกภาพ กล่าวก็คือกรณี สูงอายุ ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต


รวมถึงกรณีที่โอนจากกองทุน กบข. ไปสู่ กสล. หรือจาก กสล. หนึ่งไปสู่อีก กสล.หนึ่ง จากเดิมซึ่งหากเป็นในส่วนของ กบข. จะให้เฉพาะการรับเงินหรือผลประโยชน์ที่สมาชิกได้รับทั้งจำนวน เมื่อพ้นสมาชิกภาพเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ขณะที่มาตรการใหม่ได้เพิ่มสิทธิ์ให้สามารถเลือกได้ที่จะรับเงินจาก กบข. ทั้งจำนวน หรือทยอยรับ และยกเว้นสำหรับดอกผลจากเงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าว รวมถึงให้เพิ่มสิทธิในกรณีที่พ้นจากสมาชิกภาพในการขอเกษียณอายุก่อนกำหนด จากเดิมที่ต้องเกษียณอายุก่อน หรือเสียชีวิต
และให้สิทธิยกเว้นต่อเนื่องหากต้องการโอนจาก กบข. ไป กสล. ขณะที่ในส่วนของ กสล. จากเดิมให้ยกเว้นได้เฉพาะการรับเงินหรือผลประโยชน์ที่สมาชิกได้รับทั้งจำนวน โดยการปรับปรุงใหม่นั้นจะให้ได้รับการยกเว้นในกรณีไม่ว่าลูกจ้างจะขอรับเงินหรือผลประโยชน์ทั้งจำนวน หรือขอคงเงินไว้ใน กสล. เมื่อรับเงินคืนทั้งจำนวน หรือทยอยรับ และให้ได้รับสิทธิกรณีขอเกษียณอายุก่อนกำหนด แต่ต้องคงเงินหรือผลประโยชน์ไว้จนถึงวันเกษียณอายุโดยไม่ต้องเสียภาษี
และ 2.มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือคนพิการ โดยให้ยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลให้นายจ้างที่รับคนพิการเข้าทำงาน และผู้ที่จัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการในอัตรา 20% รวมถึงผู้ที่บริจาคเงินให้กับกองทุนเพื่อส่งเสริมพัฒนาชีวิตให้คนพิการ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่าเงินจำนวนที่บริจาค โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ยังได้ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างองค์กรออกไป 1 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล (NPL) ของแต่ละองค์กรลดลง โดยในปี 2551ที่ผ่านมาหนี้เอ็นพีแอลลดลง 84,000 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เอ็นพีแอลลดลง 32,300 ล้านบาท นอกจากนี้ในส่วนของหนี้เอ็นพีแอล ยังได้มีการขอเพิ่มเติมให้ กรณีที่ผู้เป็นหนี้เอ็นพีแอลแล้วชำระหนี้มาด้วยดีตลอดให้ได้รับสิทธิ์ในการขยายระยะเวลาไปจนถึงสิ้นปี 2553 ด้วย ขณะที่ส่วนของภาษีทางด้านของการส่งเสริมภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น ขณะอยู่ระหว่างการพิจารณา

คำถาม
1.จากการปรับปรุงโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากรวัตถุดิบ / ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยจำนวนกี่ประเภทย่อย
2.การดำเนินการปรับปรุงดังกล่าว จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในส่วนของภาษีศุลกากรเป็นเงินจำนวนเท่าใด
3.รัฐบาลได้ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างองค์กรออกไปเป็นระยะเวลาเท่าไหร

ขอบคุณข้อมูลจาก จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,490 24-26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ตลาดปูนซีเมนต์ยิ้มรับข่าวดีปี53

ผู้จัดทำ นายอับดลเล๊าะ หมัดอะหิน
เลขทะเบียน 4902100143



อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ตั้งแถวรับข่าวดีปีเสือ มีหลายตัวช่วยปลุกตลาดคึกคัก ไล่ตั้งแต่ปัจจัยบวกการเร่งเบิกใช้งบไทยเข้มแข็ง พืชผลทางการเกษตรราคาดี เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว รวมถึงการประมูลรถไฟฟ้า แย้มปีหน้าตลาดปูนซีเมนต์อาจขยายตัวเป็นบวก 5% เอสซีจี ซีเมนต์แจงอีก6เดือนรู้ผลตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย ด้าน"ทีพีไอ โพลีน" ชี้ปี52 ตลาดยังไม่ดี มั่นใจปี 53 มี 2 ปัจจัยช่วยหนุนตลาดฟื้น
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย( เอสซีจี) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2553 ว่า เตรียมรับข่าวดี เนื่องจากจะมีหลายตัวช่วยปลุกให้ตลาดปูนซีเมนต์คึกคักขึ้น โดยสัญญาณบวกเริ่มปรากฏชัดตั้งแต่ไตรมาส 3 ที่ผ่านมาที่ปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยตลาดปูนซีเมนต์พลิกเป็นบวก 7% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ที่ติดลบ 10% ไตรมาส 2 ติดลบ 4% และมั่นใจว่าในไตรมาส 4 การบริโภคปูนซีเมนต์จะดีขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตามหากมองภาพรวมทั้งปี 2552 จะเห็นว่ายังติดลบอยู่ ส่วนจะติดลบเท่าไหร่นั้น
ต้องรอดูตัวเลขสิ้นเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะติดลบถึง 3% ถือเป็นการติดลบที่ลดลง จากเดิมที่คาดการณ์ว่าตลาดปูนซีเมนต์ในปีนี้จะติดลบ 5-10%
สำหรับเอสซีจีมองว่าสถานการณ์โดยภาพรวมปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วมาก แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าธุรกิจปูนซีเมนต์โดยฐานของมันแล้วจะติดลบมาตลอด 3-4 ปี เมื่อพลิกเป็นบวกไตรมาส 3 ปีนี้ก็ถือว่าเป็นสัญญาณบวกครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยปีนี้มีการบริโภคปูนซีเมนต์ในประเทศประมาณ 24 ล้านตัน
สอดคล้องนายปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ที่ยอมรับว่าตลาดปูนซีเมนต์ครึ่งหลังของปีนี้ เริ่มเป็นบวกแต่ยังไม่แรงมาก และจะโตต่อเนื่องถึงปี 2553 เพราะรัฐบาลเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อโดยการอัดฉีดงบไทยเข้มแข็งลงระบบมากขึ้น ทำให้ภาคเอกชนแข็งแรงขึ้น ตลาดปูนซีเมนต์ขยายตัวจากกลุ่มที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภคที่เกิดจากงบไทยเข้มแข็ง นอกจากนี้ปีหน้าหากภาคเกษตรลืมตาได้โดยที่ราคาพืชผลทางการเกษตรดีขึ้น กลุ่มเกษตรกรที่ซ่อมแซมบ้านก็จะมีมากขึ้น นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกและตลาดหุ้นก็เริ่มดีขึ้นแล้ว
"คาดการณ์ว่าทั้งปี 2553 ตลาดปูนซีเมนต์น่าจะเสมอตัวหรือจะขยายตัวเป็นบวกก็น่าจะไม่เกิน 5% โดยบริโภคปูนซีเมนต์คาดการณ์เบื้องต้นว่ายังไม่ถึง 25 ล้านตัน แต่จะมากกว่า 24 ล้านตัน/ปี"
สำหรับการแข่งขันในตลาดอาเซียน ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรี(อาฟต้า) เนื่องจากมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถช่วยตัวเองได้แล้ว ต้นทุนสามารถแข่งขันกับผู้เล่นระดับโลกได้ เพราะมีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีของเราเอง
ส่วนในแง่ราคาปูนซีเมนต์ มองว่าต่อจากนี้ไปจะเป็นเรื่องของกลไกตลาด โดยที่ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกซื้อได้มากขึ้น แม้ว่าผู้ผลิตอยากจะปรับราคาก็ปรับไม่ได้ เพราะปรับราคาแล้วคนไม่ซื้อ ก็จะเป็นเรื่องของซัพพลายดีมานด์มากกว่า และมองว่าอีกหลายที่ราคาปูนซีเมนต์จะปรับได้เนื่องจากในประเทศปริมาณปูนซีเมนต์ยังมีกำลังการผลิตล้นตลาดอยู่ โดยมีกำลังผลิตรวมในประเทศประมาณ 50ล้านตัน แต่การบริโภคมีเพียง24 ล้านตัน/ปี
นอกจากนี้นายปราโมทย์ ยังกล่าวถึงในแง่การส่งออกโดยเอสซีจี ซิเมนต์ มองว่าการส่งออก 7-8 ล้านตัน/ปี ถือว่าเป็นปริมาณที่มากแล้ว เนื่องจากการส่งออกจำนวนมากจะแบกภาระต้นทุนค่าขนส่งสูงมาก แต่เอสซีจี ซิเมนต์จะปรับตัวโดยการหันไปเพิ่มมูลค่าของซีเมนต์มากขึ้น เช่นคงทนต่อการใช้งานระยะยาว และมองว่าแนวโน้มผู้บริโภคจะเริ่มหันมาสนใจเรื่องแบรนด์มากขึ้น โดยจะดูว่าองค์กรนั้นๆดูแลสังคมดีหรือไม่ ผู้ซื้อจะยอมจ่ายเพราะแบรนด์นั้นๆช่วยดูแลสังคมให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อการส่งออกมีภาระต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น เอสซีจี ซิเมนต์ จึงต้องมองโอกาสการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ประสบผลสำเร็จแล้วในการลงทุนที่กัมพูชา และมีแผนที่จะขยายเฟส 2 ในอนาคตอีกเท่าตัว
ขณะนี้ขอดูความชัดเจนของเศรษฐกิจโลกก่อน โดยที่กัมพูชายังเป็นตลาดที่น่าสนใจเพราะเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วเศรษฐกิจกัมพูชาโต 20% เนื่องจากฐานของตลาดมีขนาดเล็ก มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศ 2-3 ล้านตัน/ปี ขณะที่มีกำลังการผลิตในประเทศเพียง900,000 ตัน/ปี จากโรงงานผลิตแห่งเดียวโดยกลุ่มเอสซีจี ซิเมนต์ ที่ไปลงทุนตั้งโรงงานก่อนหน้านี้ ที่เหลือยังต้องนำเข้าจากประเทศไทย ส่วนการลงทุนที่อินโดนีเซียจะมีความชัดเจนขึ้นในอีก 6 เดือนนับจากนี้ไป
ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มตลาดปูนซีเมนต์ปี 2553 ว่าจะมี 2 ปัจจัยที่เป็นตัวช่วยหลักในการกระตุ้นตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศคือ ราคาพืชผลทางการเกษตรดีขึ้นโดยเฉพาะราคาข้าวที่ราคาสูงขึ้น พอหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวทำให้มีการใช้เงินในการซ่อมแซมบ้าน หรือปลูกบ้านใหม่ และปัจจัยต่อมาเกิดจากกรณีที่มีการประมูลรถไฟฟ้า 2 สายเกิดขึ้น โดยเฉพาะสายสีม่วง จะทำให้มีการใช้ปูนเพื่องานก่อสร้างมากขึ้น ทำให้ตลาดปูนซีเมนต์ปี 2553 ดีกว่า2 ปีที่ผ่านมาโดยจะมีการบริโภคประมาณ 25 ล้านตัน/ปี

นายปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล
"ในแง่ราคาปูนซีเมนต์ มองว่าต่อจากนี้ไปจะเป็นเรื่องของกลไกตลาดมากขึ้น ที่ผู้ผลิตมีโอกาสเลือกซื้อได้มากขึ้น แม้ว่าผู้ประกอบการอยากจะปรับราคาก็ปรับไม่ได้ ปรับราคาแล้วคนไม่ซื้อ ก็จะเป็นเรื่องของซัพพลายดีมานด์มากกว่า"

คำถาม
1.SCG ประสบความสำเร็จในการลงทุนในอาเซียนคือประเทศอะไร
2.ปี 2553 ตลาดSCG จะเสมอตัวหรือขยายตัวเป็นบวก ไม่เกินเท่าไร
3.การส่งออำจำนวนมากมีภาระด้านใดมากที่สุด

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,491 27-30 ธันวาคม พ.ศ. 2552